กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ GI Plus ยกระดับสินค้า GI ไทย

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ GI Plus ยกระดับสินค้า GI ไทย


กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ GI Plus ยกระดับสินค้า GI ไทย ดึงนักออกแบบระดับประเทศร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทย ผลักดันสินค้าชุมชนสู่สินค้าพรีเมี่ยมระดับนานาชาติ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน กรมฯสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสินค้า และผลักดันด้านการตลาด การพัฒนายกระดับภาพลักษณ์ของสินค้า และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กรมฯ จึงได้ดำเนินการโดยใช้ GI Plus ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการยกระดับสินค้า GI ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่สินค้าที่มีตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย คือ การนำเอาการออกแบบเข้ามาช่วยให้สินค้าน่าดึงดูด ผ่านโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย โดยเชิญนักออกแบบมืออาชีพ ที่มากด้วยประสบการณ์ และมีผลงานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ระดับแนวหน้าของประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ เพื่อปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสินค้า GI ไทย ให้โดดเด่น ทันสมัย สวยงาม ให้สมกับคุณภาพและชื่อเสียงของสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ที่มีจำนวนจำกัด เป็นต้นแบบของการสร้างภาพลักษณ์ (Branding) ตลอดจนสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าของชุมชน รวมถึงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจและรับรู้ถึงคุณภาพของสินค้า GI ไทย โดยบนบรรจุภัณฑ์จะสอดแทรกความรู้ และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า GI นั้น ๆ อีกด้วย”


การดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ปี 2565 นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพจำนวน 10 ราย ที่โดดเด่นจากการสมัครเข้ามาทั่วประเทศ จำนวนถึง 87 รายเข้าสู่การปรับโฉม สร้างอัตลักษณ์ให้กับบรรจุภัณฑ์
สำหรับสินค้า GI เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2565 มีดังนี้


1.    กระเทียมศรีสะเกษ และหอมแดงศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
2.    กาแฟเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่
3.    ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดมหาสารคาม
4.    ข้าวแต๋นลำปาง จังหวัดลำปาง
5.    ทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี
6.    ปลาช่อนแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี
7.    ผ้าหมักโคลนหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
8.    พริกไทยจันท์ จังหวัดจันทบุรี
9.    ลูกหยียะรัง  จังหวัดปัตตานี
10.    หมูย่างเมืองตรัง  จังหวัดตรัง


หลักจากคัดเลือกผู้ผลิต ผู้ประกอบการ GI ครบ 10 รายแล้วได้มีการจัดประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง ผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้า GI นักออกแบบ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหารือแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ 3 แนวทาง ต่อ 1 สินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการทั้งเรื่องการใช้งาน และความสวยงาม โดยกรมจะผลิตบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการแต่ละราย ภายใต้วงเงิน 30,000 บาท และผู้ผลิต ผู้ประกอบการจะได้รับต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผลิตใช้ซ้ำ ในครั้งต่อไป


“มั่นใจว่าโครงการนี้ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์สินค้า GI ไทย ให้เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมี่ยม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันตลอดจนสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้า GI ไทย มีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความโดดเด่นและอัตลักษณ์อันงดงามที่ถูกถ่ายทอดผ่านบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทยนี้ จะเป็นสะพานให้ทั่วโลกได้รู้จักกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญที่ดึงดูดผู้ซื้อที่มีศักยภาพ สร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคตต่อไป”








ติดต่อ โฆษณา

Contact : Click Marketting -

Clicknews-tv.net