รพ.พิจิตรเปิดห้องเรียนรู้สู่ปฏิบัติเสมือนจริงเตรียมความพร้อมทางการแพทย์รับมืออุบัติเหตุอุบัติภัยช่วงเทศกาลปีใหม่

รพ.พิจิตรเปิดห้องเรียนรู้สู่ปฏิบัติเสมือนจริงเตรียมความพร้อมทางการแพทย์รับมืออุบัติเหตุอุบัติภัยช่วงเทศกาลปีใหม่


 วันที่ 8 ธ.ค. 2560 นายแพทย์วิริยะ  เอี๊ยวประเสิรฐ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร  ได้เป็นประธานเปิด “ห้องเรียนรู้สู่ปฏิบัติเสมือนจริง” ณ อาคารศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลพิจิตร  โดยมี แพทย์ พยาบาล และนิสิตแพทย์ เกือบ 100 คน  ร่วมในพิธีเปิดห้องเรียน Phichit simulation center โดยมี นายแพทย์ธเนศ  ดุสิตสุนทรกุล ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพิจิตร กล่าวถึงความจำเป็นถึงห้องเรียนรู้ดังกล่าวนี้ว่านับเป็นความก้าวหน้าของการสาธารณสุขในปัจจุบัน ซึ่งไม่เฉพาะแต่ด้านการรักษา แต่ยังรวมถึงการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรทางการสาธารณสุขให้ได้ฝึกทักษะ ฝึกการตัดสินใจ จากสถานการณ์จำลองในการเรียนรู้กับหุ่นได้อย่างชำนาญก่อนจะปฏิบัติในสถานการณ์จริงที่มุ่งเน้นให้นิสิตแพทย์ เจ้าหน้าที่ เครือข่ายและอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ให้มีการฝึกการปฏิบัติการในหุ่นและสถานการณ์จำลอง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ สำหรับการดูแลรักษาแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย ( patient safety )เป็นสำคัญ


 

 ในส่วนของห้องเรียน Phichit simulation center ประกอบไปด้วย หุ่นที่เป็นสรีระร่างกายของมนุษย์ในทุกส่วนที่มีองค์ประกอบของร่างกายเหมือนจริงทุกอย่าง โดยนิสิตแพทย์และเจ้าหน้าที่รวมถึงบุคลากรทางการสาธารณสุขจะได้เรียนและได้ปฏิบัติกับหุ่น ซึ่งในอดีตนิสิตแพทย์ฯลฯ ก็จะต้องเรียนรู้กับผู้ป่วยจริง ซึ่งเป็นความยากลำบากอย่างมาก ดังนั้น รพ.พิจิตร จึงได้จัดหางบประมาณจำนวนหลายล้านบาทมาเพื่อสร้างห้องเรียนดังกล่าว ซึ่งภายในห้องเรียนนี้จะมีศูนย์ควบคุมสั่งการให้ความรู้แก่นิสิตแพทย์ฯลฯ อย่างทันสมัย การเรียนการสอนเริ่มตั้งแต่การล้างมือ การดูตา หู คอ จมูก กับหุ่น หรือแม้กระทั่งทักษะการอาบน้ำให้กับทารกแรกเกิด รวมถึงการทำคลอดจากคุณแม่ที่เป็นหุ่น อีกทั้งการเรียนการปั๊มหัวใจ หรือการทำ CPR อย่างถูกต้องถูกวิธีก็สามารถฝึกและเรียนรู้กับหุ่นได้ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางการสาธารณสุขที่จะสร้างความพร้อมในการผลิตบุคลากรเพื่อบริการประชาชน

 



 โดย นายแพทย์วิริยะ  เอี๊ยวประเสิรฐ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร  กล่าวว่า การเปิดศูนย์เรียนรู้เสมือนจริงของศูนย์การแพทย์ศึกษาฯลฯ ในครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะจะใช้ในการฝึกทักษะของนิสิตแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลพิจิตร ทั้งแพทย์ – พยาบาล ที่เข้าปฏิบัติงานใหม่เพื่อให้มีทักษะ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ทักษะพื้นฐาน คือ การล้างมือฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขทุกคนจะต้องมีก่อนที่จะไปดูแลผู้ป่วย รวมถึงทักษะในทุกเรื่องตั้งแต่การทำคลอด การเย็บแผล การใส่สายสวนปัสสาวะ จนกระทั่งแม้แต่การสร้างสถานการณ์เสมือนจริง ผู้ป่วยฟื้นคืนชีวิต หรือ ที่เรียกว่า CPR ในกรณีที่คนไข้หยุดหายใจก็มีการจำลองสถานการณ์จริง มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งอาจารย์แพทย์จะให้นิสิตแพทย์ปฏิบัติในห้องที่มีผู้ป่วยในสถานการณ์จำลอง โดยอาจารย์แพทย์ก็จะเฝ้าสังเกตการปฏิบัติรวมถึงผู้ปฏิบัติ ทั้งนิสิตแพทย์ หรือ ผู้ที่เข้ารับการฝึกเพื่อจะสามารถที่จะให้คำแนะนำหรือประเมินผล ว่ามีความรู้ทักษะเพียงพอในการปฏิบัติหรือเปล่า ก่อนที่จะจบออกไปปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง 

 

 

การเรียนกับหุ่นนี้ประโยชน์ที่เกิดขึ้น คือ เราจะมั่นใจได้มากขึ้นว่าเจ้าหน้าที่หรือนิสิตแพทย์ที่จบออกไปมีความรู้และทักษะที่แท้จริงในการที่จะดูแลผู้ป่วย และรวมถึงการทำหัตถการต่างๆ ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของวงการสาธารณสุข วงการศึกษาของแพทย์ ซึ่งเดิมจะต้องไปฝึกปฏิบัติกับร่างกายของคนไข้จริงๆ แต่วันนี้ผู้ปฏิบัติงานสามารถฝึกได้กับหุ่น แต่ก็ต้องกล่าวย้ำว่า นิสิตแพทย์ในการเรียนกับอาจารย์ใหญ่ที่มีผู้บริจาคร่างกายหลังจากการเสียชีวิตก็ยังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อาจจะกล่าวได้ว่า หุ่นที่ใช้เรียนนี้ไม่อาจทดแทนอาจารย์ใหญ่ได้แต่การเรียนกับหุ่นเป็นการเติมเต็มอีกส่วนหนึ่งในทักษะในการดูแลผู้ป่วย แต่ในส่วนของการเรียนกับอาจารย์ใหญ่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นความรู้พื้นฐานเรื่องโครงสร้างของร่างกาย Anatomy  

 

 

นายแพทย์วิริยะ  เอี๊ยวประเสิรฐ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร  กล่าวเพิ่มเติมว่า การติวเข้มนิสิตแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการสาธารณสุขและเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ที่ห้องเรียนนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับอุบัติเหตุ อุบัติภัย ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 อีกด้วย

 

 

 

ภาพ / ข่าว  :  สิทธิพจน์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคคลิ๊กนิวส์ จ.พิจิตร

 






ติดต่อ โฆษณา

Contact : Click Marketting -

Clicknews-tv.net