สังคมกังขา "บอส อยู่วิทยา" หลุดคดี ตอกย้ำกระบวนการยุติธรรมไทยเงียบได้ ด้วยเงิน?

สังคมกังขา "บอส อยู่วิทยา" หลุดคดี ตอกย้ำกระบวนการยุติธรรมไทยเงียบได้ ด้วยเงิน?


ประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น กรณีที่ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส หลานของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก รอดพ้นคดีขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 หลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา และล่าสุด หมายแดงของตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล ได้มีการแจ้งถอนหมายออกจากระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ส่งผลให้นายวิทยา มีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ใช่บุคคลคตามหมายจับอีกต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางกลับประเทศไทยหรือไปที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้

คดีดังกล่าว ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอย่างหนัก พร้อมกับตั้งคำถามด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีอยู่จริงหรือไม่ และ กฎหมายไทยยังศักดิ์สิทธิ์พอให้ประชาชนเคารพอยู่อีกไหม? ขณะที่โลกโซเชียลฯมีความพยายามเชื่อมโยง กรณี "ครอบครัวอยู่วิทยา" ยื่นหนังสือตอบรับนายกรัฐมนตรี โดยสนับสนุนงบประมาณ 300 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายใต้โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 63  จากนั้นเพียงแค่เดือนเศษ  สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ "บอส อยู่วิทยา" ทายาทกระทิงแดง ในทุกข้อกล่าวหา โดยเอกสารคำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563


ด้าน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นด้วยว่า  #ทำไมการที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้จึงเป็นเรื่องร้ายแรง

กรณีนี้ไม่ใช่แค่ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตเท่านั้น แต่เป็นเรื่อง #ชนแล้วหนี แล้วคนที่ถูกชนก็คือ #เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังมีการใช้ให้ผู้อื่นมารับผิดแทน การที่คดีล่าช้าอยู่ในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนานถึง 8 ปี ก็แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ และแสดงให้เห็นถึงปัญหา #ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ของประเทศไทยมากพออยู่แล้ว

ดังนั้น การที่สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศทุกข้อหา จึงเป็น #เรื่องร้ายแรงมาก ในความรู้สึกของผู้คนโดยทั่วไป และเป็นการตอกย้ำสิ่งที่พูดกันว่า #คุกมีไว้ขังแค่คนจน ส่วนคนรวยจะหลุดรอดเพราะมีเส้นสายและวิ่งเต้นได้ ว่าเป็นเรื่องจริง

#สำนักงานอัยการสูงสุดจึงต้องชี้แจงเหตุผล ว่า #ทำไมจึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกคดีเช่นนี้ อย่าให้คนคิดไปว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยสามารถวิ่งเต้นและใช้เส้นสายได้ เพราะนี่คือกรณีที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง หาไม่แล้วคนจะไม่ใช่แค่บอยค็อตต์ผลิตภัณฑ์ในเครือกระทิงแดง แต่อาจจะบอยค็อตต์สำนักงานอัยการสูงสุดด้วย

ส่วน #สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแถลงแค่ว่าทำตามขั้นตอน และทำตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้ แต่ต้องชี้แจงให้เหตุผลว่า #ทำไม่ไม่คัดค้านความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้อง ด้วยครับ



ขณะที่นายเกิดผล แก้วเกิด  ทนายความชื่อดัง ได้เคยกล่าวถึง 5 เหตุผล ที่ทำให้คนรวยรอดคุก  ไว้ดังนี้ 

การประกันตัว เมื่อเกิดการกระทำความผิดและจับกุมตัวขึ้น สิ่งแรกที่ต้องใช้เพื่อแลกกับอิสรภาพวินาทีนั้นคือ “เงินประกันตัว” ยิ่งโทษสูงก็ต้องใช้เงินประกันตัวมาก สำหรับคนรวย เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา ขณะที่คนจนนั้นแสนลำบากและอาจต้องอยู่ในห้องขังยาวนานกว่าจะหาเงินได้ เรียกว่าแค่เริ่มต้น สภาพจิตใจของพวกเขาในการต่อสู้กับขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมก็ลดฮวบฮาบแล้ว

จ้างทนายความ การต่อสู้คดี  เราต้องเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีทนายความเข้ามาให้คำปรึกษาช่วยเหลือแทบทุกขั้นตอน ไล่ตั้งแต่ ชั้นสอบสวน หลังการประกันตัว การรวบรวมเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ จำเป็นเหลือเกินต้องทำอย่างรอบคอบและรอบด้าน คนรวยสามารถจ้างทนายเก่งๆที่เต็มไปด้วยสายสัมพันธ์ กว้างขวาง  ขณะที่ฝั่งคนจน น้อยคนจะมีเงินจ้างทนายความ หรือมีทนายอาสาเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนถูกฟ้อง  ขณะที่ "ทนายขอแรง"ที่ศาลจัดหาให้กับจำเลย กรณีจำเลยไม่มีทนายความ อาจทำหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรือทุ่มเทเท่ากับกลุ่มทนายมือดีที่ถูกว่าจ้าง

ประวิงเวลาได้ยาวนานกว่า เงินถือเป็นตัวประวิงเวลาในการต่อสู้คดี โดยสามารถขอเลื่อนพิจารณาคดีเพราะทนายป่วย แต่คนจนมีเงินจำกัด ประวิงเวลานานไม่ได้ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการเดินทางมาศาลและจ้างทนายความแต่ละครั้ง นานเข้าก็ถอดใจ บางคนไปกู้หนี้ยืมสิน แม้กระทั่งขายที่ดินมาต่อสู้ก็ยังไม่พอ  บางรายเลือกยอมรับผิดโดยภาระจำยอม เมื่อเห็นว่าการต่อสู้ไม่คุ้มกับเงินทองที่ต้องเสีย

ช่องทางกฎหมาย กฎหมายเปิดช่องว่าถ้าผู้กระทำความผิดสำนึกผิด พร้อมกับบรรเทาความเสียหาย ศาลสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษสถานเบาได้  โดยคนรวยนั้นมักจ่ายเงินให้กับคู่กรณีจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความ ทำให้ศาลเห็นว่าผู้กระทำนั้นสำนึกผิดแล้ว ขณะที่คนจนสำนึกผิดแล้วเช่นกัน แต่ไม่มีปัญญาบรรเทาความเสียหายให้เหยื่อ

ระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย พวกพ้อง คนรวยมักมีเครือข่าย รู้จักผู้อำนาจกว้างขวาง ตลอดชีวิตของคนเหล่านั้นบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์ให้กับสำนักงานและองค์กรต่างๆมากมายจนเกิดเป็นระบบอุปถัมภ์ ช่วยเหลือเกื้อกูล และอาจมีความเกรงใจต่อกันในการทำหน้าที่ ผิดกับพวกคนจน อย่าว่าแต่บริจาค เงินจะกินยังไม่มี

"เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของเงินล้วนๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม คนจนไม่มีเงิน ไม่มีพวก บางรายไม่มีความรู้อีก คนรวยกระซิบเบาๆ ได้ยินกันทั้งสังคม คนจนตะโกนหน้าโรงพักอาจไม่มีใครได้ยินเลย กฎหมายไม่ได้บอกว่าคนรวยต้องได้รับโทษน้อยหรือมากกว่าคนจน แต่ต้องเข้าใจว่าการมีเงินมันสามารถนำพาตัวเองให้รอดได้ สร้างโอกาส และอาจได้รับการสนับสนุนมากกว่า พวกเขาใช้เงินทำงาน เหมือนที่มีใครเคยเปรียบเปรยไว้ว่า "ถ้าเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบ"

"เราก็จะเห็นภาพในลักษณะคนรวยรอดคุกหรือได้รับโทษน้อยกว่าคนจนแบบนี้ไปตลอด ทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ใจอย่างเดียว แต่อยู่ที่เงินด้วย แม้ความยุติธรรมไม่ได้เลือกคนจนหรือรวย แต่เงินมันง้างความยุติธรรมได้ ไม่มากก็น้อย มันทำได้  ตราบใดที่สังคมเห็นเงินมีค่า สัจธรรมนี้ยังมีตลอดไป จนกว่าเงินจะไม่มีค่านั่นแหละ"

 

เครดิต : ข่าวสด  , Prinya Thaewanarumitkul  ,posttoday  , 






ติดต่อ โฆษณา

Contact : Click Marketting -

Clicknews-tv.net